เอื้อเฟื้อ เมตตา อาสาช่วยงาน บริการด้วยน้ำใจ

24/7/55

จิตอาสา คือ ผู้ให้ด้วยเมตตาจิต


กลุ่มงานจิตอาสา    เป็นการรวมกลุ่มอิสระของบุคคลทุกเพศ  ทุกวัย มาจากหลากหลายอาชีพ  อาสาเข้ามาโดยมีเป้าหมายเดียวกันคือ  การให้ ปลุกจิตสำนึกต่อสังคม ภายใต้อุดมการณ์-เอื้อเฟื้อ เมตตา – อาสาทำงาน – บริการด้วยน้ำใจ ภาระหน้าที่สำคัญของงานจิตอาสา  อาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม
1.ภาระงานหน้าที่ประจำ                     2.ภาระงานหน้าที่เฉพาะกิจ (อาสาสมัคร)
โรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี เป็นโรงพยาบาลระดับศูนย์รับบริการผู้ป่วยจำนวนมากทั้งในเขตพื้นที่ จ.ราชบุรี  และจังหวัดใกล้เคียง  ทำให้ประสบปัญหาการให้บริการเพราะเจ้าหน้าที่ หรือบุคลากรทางการแพทย์มีไม่เพียงพอ  กลุ่มงานจิตอาสาจึงได้เกิดขึ้นเพื่อแบ่งเบาภาระแก้ปัญหาดังกล่าว  โดยถือเป็นภาระงานหน้าที่ประจำในรูปของชมรมอาสาสมัคร มีคณะกรรมการร่วมปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบ  ภายใต้การดูแลสนับสนุนของผู้อำนวยการ รพ.ราชบุรี (นายแพทย์สมชาย  เทพเจริญนิรันดร์) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารงานจิตอาสา รพ.ราชบุรียุคใหม่ ทำหน้าที่ประสานงานร่วมกับอาสาสมัครจิตอาสา  เป็นการแบ่งเบาภาระงานตามความรู้ ความสามารถ สร้างความพึงพอใจแก่ผู้รับบริการ  ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน  ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข  มีเป้าหมายผู้รับบริการมีความสุข ไม่ถูกทอดทิ้ง สังคม ชุมชนอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน
ภาระงานจิตอาสา    ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว  งานจิตอาสาเกิดขึ้นมานาน เป็นนโยบายหลักของรัฐบาล ส่งเสริมให้ความสำคัญโดยเฉพาะกลุ่มข้าราชการบำนาญ มารับใช้สังคมเป็นอาสาสมัคร  นับได้ว่าเป็นสิ่งสวยงามท่ามกลางปัญหาวิกฤติของสังคม  ในสังคมไทย คำว่าจิตอาสา มีการใช้เป็นครั้งแรก หลังเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิ (คลื่นใต้น้ำ)  ในภาคใต้ของไทย ช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ.2547  และในช่วงวิกฤติมหาอุทกภัยปี2554 ในหลายจังหวัดภาคกลาง  กลุ่มงานจิตอาสาเข้ามาแก้ปัญหาท่ามกลางวิกฤติธรรมชาติ เป็นภาระงานหน้าที่เฉพาะกิจที่มีบทบาทสำคัญไม่น้อย
คุณสมบัติของจิตอาสา  ที่สำคัญยิ่ง คือ ความเมตตา กรุณา ยินดีสละแรงกาย แรงใจ และทรัพย์สินเงินทอง เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน นับว่าเป็นคุณสมบัติที่มีอยู่ในจิตใจมนุษย์ทุกคนไม่มากก็น้อย ในวิกฤติการณ์ทุกครั้งก็จะมีปรากฏการณ์ ของจิตอาสาเข้ามามีบทบาท แบ่งเบาภาระงานอย่างมีประสิทธิภาพ
 ผู้สูงวัยหลายท่านทั้งชายและหญิงเผยว่ามาเป็นอาสาสมัครเพราะสำนึกว่าตนเองต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม  สงสารเพื่อนมนุษย์ที่เจ็บป่วย ทุกขเวทนา  มาช่วยด้วยเมตตาถือคติธรรมว่า เป็นผู้ให้ด้วยจิตใจที่เสียสละ  หลายท่านบอกว่าเป็นผู้ให้  มีความสุขเหนือกว่าที่จะคอยรับยิ่งให้มากจะได้รับผลตอบแทนมาก นับเป็นกุศลจิตอย่างแท้จริง
        ในทรรศนะของผู้เขียน ได้ใคร่ครวญพิจารณาตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนาเห็นว่าการให้เป็นการสร้างบารมีธรรมที่มี อานิสงส์ยิ่ง โดยเฉพาะ ทานจักร  คือการสร้างทานบารมีที่เป็นรูปธรรม มี 10 ประการ ได้แก่

1.ให้ทานด้วยทรัพย์สินเงินทอง                                                  
2.ให้ทานด้วยสายตาที่เมตตาปรานี
3.ให้ทานด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส
4.ให้ทานด้วยวาจาที่ไพเราะน่าฟัง
5.ให้ทานด้วยแรงงานช่วยเหลือผู้อื่น
6.ให้ทานด้วยการอนุโมทนายินดีเมื่อผู้อื่นทำดี
7.ให้ทานด้วยการเสียสละให้ที่นั่ง
8.ให้ทานด้วยการให้ที่พักอันสะดวกสบาย
9.ให้ทานด้วยการให้อภัย(อภัยทาน)
10.ให้ทานด้วยการให้ธรรมะ(ธรรมทาน)

การทำบุญให้ทาน จึงไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะการให้ทรัพย์สินเงินทอง และไม่จำกัดเฉพาะว่าต้องทำบุญกับวัด กับพระเท่านั้น ดังที่คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดพลาด การให้ทานยังเน้นถึงการสงเคราะห์ พ่อ แม่ พี่ น้อง ญาติสนิทมิตรสหาย ให้แก่ผู้ที่ขาดแคลนหรือกับสรรพสัตว์ทั้งหลาย  เหล่านี้เรียกได้ว่าเป็นการให้ทานทั้งสิ้น (ทานนัยหรือทานบารมี)   ทุกคนไม่ว่าจะมีฐานะในระดับใดก็สามารถเป็นผู้ให้ได้เสมอ ตามหลักการบำเพ็ญทานทั้ง 10 ประการข้างต้น
        ผลดีที่ได้รับจากการให้ (งานจิตอาสา)
1.ลดกิเลสเบื้องต้นให้หมดไป (โลภ – โกรธ – หลง) ขจัดความตระหนี่ให้เบาบาง
2.ประสบความสำเร็จในสิ่งที่ต้องการ เพราะเทวดาที่รักษาคอยให้ความช่วยเหลือและเหล่าเจ้ากรรมนายเวรกลับกลายเป็นมิตร
3.เป็นที่รักของเทวดา มนุษย์ และสัตว์ทั้งหลาย เป็นเสน่ห์แก่ผู้พบเห็น
4.สังคมยกย่องสรรเสริญ เป็นผลดีต่อลูกหลาน วงศ์ตระกูล
5.เดินทางปลอดภัย จิตใจอ่อนโยน มีเมตตาต่อบุคคลทั่วไป
6.นอนหลับสบาย เป็นมงคลชีวิต(ก่อนนอนหมั่นสวดมนต์ ไหว้พระ แผ่เมตตา)
7.ครอบครัวอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข  เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันครอบครัว
8.สุขภาพกาย สุขภาพจิตดีเพราะมองโลกในแง่ดี
9.เป็นแบบอย่างที่ดีแก่บุตรหลาน และอนุชนรุ่นหลัง
10.เมื่อชีวิตดับไป จิตวิญญาณสู่สุคติภูมิ เพราะอานิสงส์ของทานบารมี และ กุศลจิต
  
จึงใคร่ขอเชิญชวนสาธุชนทุกท่านที่มีจิตเป็นกุศล จิตสาธารณะ จากการให้ การช่วยเหลือผู้อื่นด้วยน้ำใจไม่หวังผลตอบแทนมาร่วมงานจิตอาสา รพ.ราชบุรียุคใหม่ภายใต้อุดมการณ์เดียวกัน เพื่อร่วมพัฒนาสังคมส่วนรวม ร่มเย็นเป็นสุขสืบไป

 โดย  คุณกิจพัฒน์    เรืองช่วย