เอื้อเฟื้อ เมตตา อาสาช่วยงาน บริการด้วยน้ำใจ

18/6/57

จิตอาสา : บุคคลทรงคุณค่าของโรงพยาบาลราชบุรี

           งานจิตอาสาโรงพยาบาลราชบุรี  กำเนิดขึ้นจากคนกลุ่มหนึ่ง ที่อาสามาช่วยกันทำความดีด้วยการช่วยงานในโรงพยาบาลโดยไม่หวังผลตอบแทน  มีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 20 ปี

  • พ.ศ. 2537 เริ่มจากบุคลากร ทั้งแพทย์ พยาบาล  ที่เกษียณอายุราชการแล้ว นำโดยนายแพทย์สัมพันธ์ สกุณา อาสามาช่วยงานในโรงพยาบาลราชบุรี ในยุคนี้ เรียก"อาสาสมัครโรงพยาบาลราชบุรี"
  • พ.ศ.2539 มีแพทย์มาช่วยตรวจรักษาผู้ป่วยเพิ่มอีก 1 ท่านคือนายแพทย์ประสิทธิ์ นิพัทธสัจก์
  • พ.ศ.2542 มีพยาบาลที่เกษียณอายุราชการมาช่วยให้บริการเพิ่มอีก  1 ท่านคือนางอ่อนศรี  ธไนศวรรยางกูร
  • พ.ศ.2544 มีการก่อตั้งชมรมอาสาสมัครโรงพยาบาลราชบุรี เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2544 มีจำนวนสมาชิก 20 คน โดยนายแพทย์มงคล จิตวัฒนากร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชบุรี ได้ทำพิธิเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 4 กันยายน 2544 และคุณขวัญใจ สายศิริ ได้แนะนำระบบบริการผู้ป่วยนอก 
  • พ.ศ.2549 ได้ริเริ่มจัดทำโครงการอาสาสมัครผู้สูงอายุ มีผู้สูงอายุและสมาชิกชมรมผู้สูงอายุโรงพยาบาลราชบุรี มาเป็นอาสาสมัครเพิ่มจาก 8 คนเป็น 32 คน และก่อตั้ง "ชมรมอาสาสมัครผู้สูงอายุ โรงพยาบาลราชบุรี"
  • พ.ศ.2550 จัดทำโครงการจิตอาสาประชาชน ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้บุคคลที่มีจิตสาธารณะ มาแบ่งปันความสุขให้แก่ผู้รับบริการในโรงพยาบาล  เชื่อมสัมพันธภาพอันดีระหว่างเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลกับผู้รับบริการ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน ช่วยแบ่งเบาภาระงานของเจ้าหน้าที่ ลดปัญหาการให้บริการ ลดข้อร้องเรียน เพิ่มความพึงพอใจแก่ผู้รับบริการและเปลี่ยนชื่่อชมรมอาสาสมัครผู้สูงอายุ โรงพยาบาลราชบุรี เป็น"ชมรมจิตอาสาโรงพยาบาลราชบุรี" มีสมาชิก 61 คน
  • พ.ศ.2551 โครงการศึกษาดูงานชมรมจิตอาสาโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า นนทบุรี
  • พ.ศ.2552 โครงการส่งเสริมสุขภาพและสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติงานจิตอาสา ในรูปแบบของกิจกรรม บรรยายพิเศษ/อภิปรายกลุ่มให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม การทำงานแบบจิตอาสา การป้องกันโรคติดต่อต่าง ๆ การตรวจสุขภาพจิตอาสา การมอบใบประกาศเกียรติคุณ
  • พ.ศ.2554 จัดทำโครงการอบรมจิตอาสากู้ชีพ
  • พ.ศ.2555 โครงการจิตอาสาพาบุญพาสุขสู่ผู้ป่วยสูงอายุเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว:จิตอาสานำผู้ป่วยสวดมนต์ขณะรอรับบริการที่ OPD สัปดาห์ละ 3ครั้ง และการจัดกิจกรรมทำบุญสวดมนต์ ทำสมาธิ ฝึกจิตภาวนาโดยนิมนต์พระ มาเป็นวิทยากร เดือนละ 1 ครั้ง
การดำเนินงานโครงการจิตอาสาโรงพยาบาลราชบุรียุคใหม่ ประกอบด้วยคณะกรรมการฝ่ายโรงพยาบาลราชบุรี โดย นายแพทย์สมชาย เทพเจริญนิรันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชบุรี เป็นประธานที่ปรึกษา และมีนายแพทย์ธนะบุญ ประสานนาม เป็นประธานกรรมการ ในส่วนของคณะกรรมการชมรมอาสาสมัครจิตอาสา มี พ.อ.เชิด วงษ์ไทย เป็นประธาน  มีผู้สนใจมาสมัครเป็นจิตอาสาเพื่อช่วยเหลืองานต่างๆ ในโรงพยาบาลทั้ง ข้าราชการ  ผู้สูงอายุ  นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป    ปัจจุบัน มีจิตอาสาที่มาช่วยปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอ  และมีกลุ่มจิตอาสาอื่น ๆ หมุนเวียนเข้ามาช่วยงานเป็นครั้งคราวอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย
จิตอาสาเหล่านี้มาปฏิบัติงานด้วยจิตที่เป็นกุศล เสียสละแรงกาย แรงใจและเวลา มีคุณธรรม มองเห็นคุณค่าชีวิตของผู้อื่น เมตตาผู้เจ็บไข้ได้ป่วย พร้อมที่จะเป็นผู้ให้ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน นอกจากความสุข ความปลื้มปิติและความรู้สึกภาคภูมิใจในคุณค่าของตนเอง แม้ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ แต่ยังมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยและสังคม เป็นแบบอย่างที่ดีงามและเป็นกำลังใจให้กับบุคคลอื่นและผู้ศึกษาดูงาน แม้ว่าร่างกายจะเสื่อมตามวัยแต่หัวใจไม่รู้โรยรา นอกจากนี้การทำความดีของจิตอาสาหลายๆคน เชื่อมเรียงร้อยกันเป็นกระแสของความดีที่ยิ่งใหญ่  ดึงดูดให้บุคคลต่างๆ เข้ามาทำความดีในโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้น

              เอื้อเฟื้อ  เมตตา  อาสาช่วยงาน  บริการด้วยน้ำใจ

ข้อคิด คติธรรมเพื่อจิตอาสา ตามแนวทางพระพุทธศาสนา

          ทุกชีวิตเกิดมาในโลกนี้ต้องผจญกับความทุกทั้งสิ้น พระพุทธศาสนาเป็นศาสตร์แห่งปัญญา สอนด้วยเหตุ - ผล ตรงตามหลักวิทยาศาสตร์ทุกประการ เป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา คือ สอนให้รู้ทุกข์และการดับทุกข์นั้นให้หมดไป
          คติธรรม ข้อควรคิดสั้นๆ บางส่วนที่ยกมากล่าวนี้ อ่านแล้วประเทืองปัญญา เพื่อจิตอาสาทุกท่านพอจะช่วยดับกองทุกข์ให้บรรเทาได้บ้างตามประสาปุถุชน ต้องอ่านอย่างมีสติ - ปัญญานะครับ นั่นคือ การเป็นผู้มีจิตสาธารณะ(กุศลจิต) เป้าหมาย คือ มรรคผล(นิพพาน)
          1.  เมื่อวานไม่สามารถกลับไปแก้ไขอะไรได้ จึงมีวันพรุ่งนี้ให้เราได้ทำสิ่งดี ๆ ต่อไป
          2.  คนเดียวเท่านั้นที่จะช่วยให้คุณผ่านทุกปัญหาได้ คือ "ตัวเรา"
          3.  เรื่องวุ่นวายบนโลกมีอยู่ 2 อย่างเท่านั้น คือ "ไปหลงรัก" และ "ไปหลงเกลียด"
          4.  ความสบายใจไม่ได้เกิดจากทำทุกสิ่งให้ได้ดังใจ แต่เกิดจากใจที่ยอมรับว่า ไม่มีอะไรที่จะได้ดังใจเราไปทั้งหมด
          5.  ต่างคนต่างความคิด ต่างจิตต่างใจ อย่าดูถูกความคิดใคร ถ้ามีความคิดต่างกัน
          6.  อ่านหนังสือออกสำคัญ อ่านเหตุการณ์ออกสำคัญกว่า อ่านคนอื่นออกสำคัญยิ่ง "อ่านตนเองออก สำคัญที่สุด"
          7.  ถ้าคิดได้ให้ช่วยคิด ถ้าคิดไม่ได้ให้ช่วยทำ ถ้าทำไม่ได้ให้ความร่วมมือ ถ้าร่วมมือไม่ได้ให้สงบนิ่ง
          8.  ละได้ใจก็สะอาด ปล่อยวางได้ใจก็โล่ง ปลงได้ใจก็เย็น อภัยได้ใจก็สงบ
          9.  เงาจันทร์เกิดจากความนิ่งของน้ำ ฉันใดปัญญาเกิดจากความนิ่งของใจ ฉันนั้น
        10. ไม่ใช่ความทุกข์ที่ทำให้เราคิดมาก แต่เป็นเพราะเราคิดมาก ทำให้เกิดความทุกข์
        11. รู้จักให้ รู้จักรับ รู้จักปรับ รู้จักให้อภัย รู้จักแบ่งรู้จักได้ รู้จักแข็งรู้จักคลาย ชีวิตจะเบาสบาย และมีความสุขแท้จริง
        12. หาที่สงบร้อยที่ยังไม่ดีเท่าสงบที่ใจตน รู้จักคนร้อยคน ไม่ดีเท่ารู้จักตนเพียงคนเดียว
        13. เมื่อมีจงรู้จักให้ เมื่อได้จงรู้จักพอ เมื่อขอจงรู้คุณค่า คนเราเกิดมาถึงเวลาก็ต้องจากไป
        14. สิ่งที่ย้อนกลับมาไม่ได้ คือ เวลา สิ่งที่หนีไม่ได้คือความตาย สิ่งที่ซื้อไม่ได้คือสุขภาพและชีวิต สิ่งที่มองไม่เห็นคือใจคน สิ่งที่ต้องอดทนคือใจตัวเอง
        15. ไฟไม่ได้ร้อน ถ้าเราไม่เอาตัวไปใกล้ ทุกข์ใดๆ ก็ไม่ทำให้เราหนัก ถ้าเราไม่เอาใจไปแบก
        16. กำลังใจอาจได้จากคนรอบข้าง แต่ความเข้มแข็งเราต้องสร้างมันขึ้นมาเอง
        17. กำลังใจนอกจากจะมีไว้ให้ใครๆ บางครั้งก็ต้องเก็บไว้ให้ตัวเองด้วย
        18. เมื่อตัดสินใจที่จะเดินไปข้างหน้า ก็อย่าหวั่นไหวกับปัญหาที่จะต้องพบเจอ
        19. คนมีปัญญามักมองเห็นโอกาสในทุกๆปัญหา คนขาดปัญญามักมองปัญหาในทุกๆโอกาส
        20. ทุกครั้งที่เราไม่เข้าใจกัน ไม่ผิดที่จะโกรธ แต่ผิดที่เราไม่ขอโทษกัน จงขอโทษกัน ยิ้มให้กันด้วยมิตรไมตรี
            หัวใจของพระพุทธศาสนา คือ ศีล  สมาธิ  ปัญญา (จำเป็นต้องศึกษาให้ถ่องแท้)
            คำสอน...หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า        
            ศรัทธา  มีมากเกินไป  ขาดปัญญา  กลายเป็น "งมงาย"
            ปัญญา  มีมากเกินไป  ขาดศรัทธา  กลายเป็น "ทิฏฐิมานะ"
            สมาธิ    มีมากเกินไป  ขาดปัญญา  กลายเป็น "โมหะ"
            ปัญญา  มีมากเกินไป  ขาดสมาธิ    กลายเป็น "ฟุ่งซ่าน"
            วิริยะ     มีมากเกินไป  ขาดสมาธิ    กลายเป็น "เหน็ดเหนื่อย"
            สมาธิ   มีมากเกินไป   ขาดวิริยะ     กลายเป็น "เกียจคร้าน"
            " สติ " มีมากเท่าไหร่ยิ่งดี มีแต่คุณ ไม่มีโทษ
           
ควรคิดสร้างสรรค์
                      อยู่กับตนเอง..........ให้คิดบวก
                      อยู่กับผองพวก......ให้เมตตา
                      อยู่กับปัญหา...........ให่ร่วมมือแก้
                      อยู่กับพ่อแม่............ให้เร่งกตัญญู
                      อยู่กับผู้รู้..................ให้ถ่อมตน
                      อยู่กับทุกคน............ให้กระทำดี
                      อยู่กับโลกนี้..............ให้ปล่อยวาง (ทุกอย่างล้วนเป็นอนัตตา)
          
          " จิตอาสา คือ ผู้ที่ให้ด้วยความเมตตาจิต จึงยกย่องว่าเป็นผู้มีจิตสาธารณะ( กุศลจิต ) "       
          ขอทุกท่านจงเป็นผู้มีสติทุกขณะจิต  เป็นคนดี  คนเก่ง  และมีความสุข แค่นี้ก็เป็นคนโดยสมบูรณ์แล้ว
  

Create by:คุณกิจพัฒน์ เรืองช่วย


djphapho@gmail.com